21/10/55

ประเคน (การประเคน การรับประเคน)


ระเคนแล้วห้ามจับ โยม!  (คนอยู่ใกล้สะดุ้งนิดหน่อย(ในบางที่)) อย่าจับ โยม,ประเคนแล้วห้ามจับ,  โยม มา  มาประเคนใหม่  ทางโยมก็ตกใจ ประกอบกับกลัว มึนงง ประโยคเหล่านี้เจอบ่อยมาก ๆ  ก็ไม่ทราบว่าเกิดขึ้นในสมัยไหน มีความเป็นมาอย่างไร คำพูดเหล่านี้ก็อาจจะมีเหตุผลของมันอยู่นะ ในยุคต้นตอของประโยคเหล่านี้ ข้าพเจ้าขออนุมานเอาเองว่ายกตัวอย่างเช่น ประเภทอาหารสด หลังจากประเคนพระแล้วมีลูก ๆ หลาน ๆ ที่ซนหน่อย ไปจับถ้วยหรือแกงที่ร้อนมากจนทำให้พ่อแม่ ญาติ ๆ หรือพระต้องพูดว่า  อย่าจับลูก อย่าจับ มันร้อน นี่ก็อาจเป็นที่มาได้   แต่ทุกวันนี้ไม่สมเหตุสมผลเลย เข้าใจผิดประเด็นไป   ด้วยอิทธิพลทางความเชื่อที่เชื่อแล้วทำตาม ๆ กันมา โดยไม่คำนึงถึงต้นเหตุอันเป็นเหตุให้เกิดมีพุทธบัญญัติ  ข้าพเจ้าขอยกเรื่องภิกษุผู้เป็นต้นเรื่อง(ที่มาของเรื่องประเคน)ในสมัยพุทธกาลมาเล่า

        สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตกรุงเวสาลี มีภิกษุ(พระ)รูปหนึ่งสำคัญผิดคิดว่าทุกอย่างเป็นของบังสุกุล(ของที่ไม่มีเจ้าของแล้ว หรือสิ่งของที่ทิ้งแล้ว ภิกษุสามารถนำมาใช้ได้ เช่น ผ้า เอามาซัก ตัด เย็บ ย้อมใหม่ ทำเป็นจีวร เป็นต้น) ได้พักอยู่ในป่าช้า ท่านไม่ปรารถนาอาหารที่ชาวบ้านถวาย แต่ไปเที่ยวหาเอาเครื่องเซ่นตามป่าช้า ตามโคนไม้ หรือธรณีประตู มาฉัน
          ชาวบ้านพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า   "ทำไมภิกษุนี้จึงไปแสวงหาเอาเครื่องเซ่นของพวก
เราไปฉันเองเล่า เหล่าภิกษุที่มักน้อย สันโดษ ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ได้ยินชาวบ้านตำหนิอย่างนั้น ก็ได้
พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาภิกษุนั้นเหมือนกันว่า "ไฉนภิกษุจึงกลืนอาหารที่ยังไม่มีผู้ถวายให้ล่วงลำคอเล่า(ฉันตกถึงท้องนั่นเอง) จากนั้นจึงได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
        ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรงสอบถามภิกษุนั้นว่า  " ภิกษุ ทราบว่า เธอฉันอาหารที่ยังไม่มีผู้ถวายให้ล่วงลำคอจริงหรือ " ภิกษุนั้นทูลรับว่า " จริง พระพุทธเจ้าข้า "  พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงตำหนิว่า " โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ " แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
ก็ ภิกษุใดกลืนอาหารที่ยังไม่มีผู้ถวายให้ล่วงลำคอ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้

ทรงอนุญาตน้ำและไม้ชำระฟัน (ไม่ต้องประเคน)
        สมัยนั้นภิกษุทั้งหลาย มีความยำเกรง   ไม่ยอมหยิบน้ำและไม้ชำระฟันใช้   จึงได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ทรงอนุญาตว่า " ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ถือเอาน้ำและไม้ชำระฟันมาใช้เองได้ " แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระอนุบัญญัติ (บัญญัติเพิ่มเติม)
อนึ่ง ภิกษุใดกลืนอาหารที่ยังไม่มีผู้ถวายให้ล่วงลำคอ นอกจากน้ำและไม้ชำระฟัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์

        อาหารที่ยังไม่มีผู้ถวาย คืออาหารที่ภิกษุยังไม่ได้รับประเคน ลักษณะการประเคน การรับประเคน ไว้ขอกล่าวทีหลัง   ขอพูดถึงน้ำและไม้ชำระฟันก่อน คือข้อนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายแสวงหามาใช้ มาดื่มเองได้ ไม่ต้องอาศัยทายก ทายิกาฝ่ายเดียว  เห็นได้ชัดเจนในเรื่องนี้ คือในบริขาร ๘ อย่าง ที่เป็นเครื่องใช้สำคัญของภิกษุทั้งหลายจะมีธมกรก(เครื่องกรองน้ำ)เป็นหนึ่งในนั้น ในสมัยพุทธกาลนั้นจำเป็นต้องใช้สิ่งนี้กรองน้ำเพื่อความสะอาด เพื่อป้องกันสัตว์น้ำชนิดเล็ก ๆ  ในปัจจุบันก็มีความจำเป็นอยู่บ้างในบางกรณี เช่น อยู่ป่า อยู่ถ้ำ ที่ต้องอาศัยน้ำตามลำธาร คลอง บึง เป็นต้น  ส่วนไม้ชำระฟันที่ใช้เคี้ยวเพื่อทำความสะอาดฟัน ก็มีใช้มากในสมัยนั้น ในปัจจุบัน(ในอินเดีย เนปาล)คาดว่าบางคนก็ยังใช้อยู่  เหล่านี้ภิกษุสามารถหามาใช้เองได้ นี้เป็นพุทธานุญาต
     อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้ภิกษุจะถือปฏิบัติอย่างนั้นก็คงไม่ได้เสียทีเดียว เพราะสังคม การเป็นอยู่ ระบบเศรษฐกิจ ได้เปลี่ยนไปจากแต่ก่อนอย่างสิ้นเชิง อย่างน้ำดื่มได้เป็นสินค้าที่มีราคาไม่แตกต่างจากราคาน้ำมันเลย  กลายเป็นของมีค่าไปแล้วในทุกสังคม โดยเฉพาะสังคมเมือง  ในกรณีนี้ข้าพเจ้าจะขอสมมติเรื่องขึ้นมาเรื่องหนึ่ง เช่น มีชาวบ้าน  หรือทายก ทายิกามีศรัทธาอยากจะเลี้ยงพระ   ได้จัดเตรียมนำอาหารหวานคาวพร้อมน้ำดื่มที่ซื้อมา นำมาถวายที่วัดในระหว่างรอความพร้อม หรือกำลังจัดแจงอาหาร  ภิกษุได้หยิบน้ำมาดื่มด้วยสำคัญว่าสิ่งนี้ไม่ต้องประเคนดื่มได้เลย เพราะเป็นพุทธานุญาต   นี้ก็อาจทำให้ศรัทธาตกได้ ในกรณีนี้น้ำต้องประเคนหรือไม่ ?   อย่างนี้เห็นทีจะต้องอาศัยมหาปเทส ๔ (ข้ออ้างอิง ๔ ประการ) มาช่วยพิจารณาได้

ลักษณะ การประเคน การรับประเคน
       การประเคน คือการถวายของแด่พระโดยยกส่งให้ตามพิธีการ  จะขอยกเนื้อหาที่เป็นองค์ประกอบในพระไตรปิฎกมากล่าว
       ที่ชื่อว่า มีผู้ถวาย คือ   (๑)เขาถวายด้วยกาย ด้วยของเนื่องด้วยกาย หรือด้วยโยนให้    (๒)เขาอยู่ในหัตถบาส   (๓)ภิกษุรับประเคนด้วยกาย หรือด้วยของเนื่องด่้วยกาย นี้ชื่อว่า มีผู้ถวาย
       ที่ชื่อว่า อาหาร ได้แก่ ของที่ฉันได้ ยกเว้นน้ำและไม้ชำระฟัน นี้ชื่อว่า อาหาร
     
       กล่าวโดยสรุป ลักษณะการประเคนมี ๒ อย่าง คือ
              ๑. การประเคนประกอบด้วยหัตถบาส
              ๒. การประเคนด้วยการโยนให้

       การประเคนประกอบด้วยหัตถบาส    คือช่องว่างระหว่างผู้ถวายกับผู้รับห่างกัน ๑ ศอกของบุรุษกลางคน (หมายถึงคนที่ไม่เตี้ยเกินไปไม่สูงเกินไป)   ผู้ถวายจะถวายด้วยกาย (มือ)  หรือของเนื่องด้วยกายก็ได้  หมายถึง ใช้มือจับสิ่งของนั้นถวายได้โดยตรง  หรือเอาสิ่งของวางลงบนผ้า หรือวัตถุที่เหมาะสม  เช่น ถาด เป็นต้นแล้วใช้มือจับผ้าหรือถาดถวาย   ส่วนผู้รับก็จะรับด้วยกาย (มือ) หรือของเนื่องด้วยกายอย่างที่กล่าวแล้ว   ขอชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับ การถวาย การรับ ด้วยของเนื่องด้วยกาย   จะใช้ได้ฝ่ายเดียวเท่านั้น คือผู้ถวาย  หรือผู้รับก็ได้    ถ้าผู้ถวาย ๆ ด้วยของเนื่องด้วยกาย ผู้รับต้องรับด้วยกาย ถ้าผู้ถวาย ๆ ด้วยกาย ผู้รับต้องรับด้วยของเนื่องด้วยกาย
      การประเคนด้วยการโยนให้   คือผู้ถวายและผู้รับไม่ได้อยู่ในสถานที่ ๆ เอื้อต่อการถวายการรับในรูปแบบหัตถบาส ไม่ว่าจะอยู่ในภาวะการณ์เช่นใดก็ตาม นี้ก็จัดเป็นการประเคน การรับประเคน

       ขอเข้าและสรุปประเด็นหลักที่ข้าพเจ้าอยากพูดถึง ที่ได้เกริ่นไว้แต่ต้น เมื่อทายก ทายิกา ปารถนาที่จะทำบุญเลี้ยงพระที่บ้าน หรือที่วัดก็ตาม   มีเจตนาดีครบ ๓ กาล คือมีศรัทธามีความเลื่อมใส ตั้งจิตมาแต่ไกล ตั้งใจมาแต่บ้าน เป็นเบื้องต้น นี้เรียกว่า ปุพพะเจตนา  กำลังถวายกำลังประเคน ก็มีจิตยินดี  นี้เรียกว่า มุญจะนะเจตนา  หลังจากตั้งใจมาดีและถวายแล้วก็เกิดปีติโสมนัส เกิดความสุข นี้เรียกว่า อะปะราปะระเจตนา  หลังจากที่ชาวบ้าน หรือทายกทายิกาประเคนแล้ว ถ้าหากอาหารมีจำนวนมาก หรือโต๊ะใหญ่เกินไป อาหารยังวางไม่เป็นระเบียบดี เช่น ขอบปากถ้วย ขอบปากภาชนะที่ใส่อาหารเกยกันและกัน   พระไม่สะดวกในการจัดเอง   ในกรณีนี้ทายก ทายิกาสามารถจับและจัดแจงให้ได้เพื่ออำนวยความสะดวก โดยไม่เสียการประเคนการรับประเคนแต่อย่างใด  ให้ดูว่าเขาจับเพื่อเจตนาอะไร เข้าใจอย่างนี้ได้ถือว่าเป็นการดี ขอให้ยึดจุดประสงค์ของพุทธบัญญัติ ยึดองค์ประกอบการประเคน   และยึดเจตนาทั้ง ๓ กาลของผู้ถวาย เป็นหลัก



อ้างอิง วิ. มหา. ๒/๒๖๓-๒๖๔-๒๖๖/๔๑๔ เป็นต้นไป
ขอบคุณภาพประกอบน่ารักที่แชร์ทาง Facebook 

       
       





 


0 comments:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นล่าสุดจากผู้เข้าเยี่ยมชม

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More

 
Powered by Blogger