16/10/55

2 วันกับศรัทธาในแดนพุทธภูมิ (เนปาล)

         ช่วงวันที่  27 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2555 คณาจารย์ผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ทั้งพระสงฆ์และฆราวาส  (o_o)  ร่วมกับคณะพระธรรมทูตไทยสายประเทศอินเดีย-เนปาล ได้นำพาคณะสงฆ์ผู้เข้ารับการอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศ รุ่นที่ 18 เฉลิมพระเกียรติ ประจำปี 2555 จำนวน 83 รูป ไปศึกษาดูงานพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล และเพื่อบูชาสักการะสังเวชนียสถานทั้งสี่แห่ง คือสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน ของพระพุทธเจ้า และสถานที่ ๆ สำคัญ ๆ อีกหลายแห่งที่เกี่ยวข้อง  นับเป็นรุ่นแรกที่ได้ไปศึกษาดูงานต่างแดนเริ่มตั้งแต่มีการอบรมมา (อบรมครั้งแรกรุ่นแรกเมื่อปี พ.ศ. 2538) รวมผู้ร่วมเดินทางไปในครั้งนี้ทั้งหมด 110 รูป/คน การเดินทางแยกออกเป็นสองสายการบิน คือการบินไทย เครื่องขึ้นเวลา 10.15 น. Nepal Airline เครื่องขึ้นเวลา 14.50 น.(ล่าช้า เวลาเดิมคือ 14.00 น.)
พระราชรัตนรังษี หัวหน้าพระธรรมทูตไทย สายประเทศอินเดีย-เนปาล
.............เดินทางถึงกาฐมาณฑุเมืองหลวงของประเทศเนปาลเวลา 17.40 น. โดยประมาณ ไม่มีเวลาพอที่จะได้ไปเที่ยวชมวัดสำคัญ ๆ และทัศนียภาพของเมืองหลวงเหมือนเพื่อน ๆ พระนักเรียนธรรมทูตที่ได้ไปก่อนหน้านั้น จึงได้ต่อรถไปยัง The Everest Hotel ทันที พักที่นี่หนึ่งราตรี เช้าวันต่อมาคือ 28 เมษา หลังจากฉันเช้าแล้วก็ได้เดินทางกลับไปยังสนามบินกาฐมาณฑุอีกครั้งเพื่อขึ้นเครื่องภายในประเทศไปยังสนามบินพุทธโคดม เมืองสิทธารถะ ใช้เวลาเดินทาง 30 นาที จากนั้นเดินทางต่อไปยังวัดไทยลุมพินีโดยรถปรับอากาศทั้งหมด 3 คันที่บริษัททัวร์จัดเตรียมไว้      ช่วงบ่ายหลังจากเสร็จภัตกิจเพลและการนำสัมภาระไปเก็บไว้ที่ห้องพักแล้ว    ทั้งหมดมีพระราชรัตนรังษี หัวหน้าพระธรรมทูตไทยสายอินเดีย-เนปาล เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยาเป็นประธาน ได้เดินทางไปยังวัดแห่งแรกของกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะในสมัยนั้น  นั่นคือนิโครธาราม เป็นวัดที่พระประยูรญาติได้ร่วมกันสร้างถวายตามพระประสงค์ของพุทธบิดาคือพระเจ้าสุทโธทนะเพื่อเป็นสถานที่รับรองการเสด็จกลับมาของพระพุทธเจ้าหลังจากที่พุทธองค์ได้เสด็จหนีออกผนวชแล้วได้ตรัสรู้ตามลำดับ เป็นวัดที่พระพุทธองค์ได้เสด็จจำพรรษาเป็นพรรษาที่ 15 เพื่อโปรดประยูรญาติ ได้แสดงธรรมที่ปรากฏในพระสูตรต่าง ๆ มีมหาชาติชาดก เป็นต้น เป็นที่ให้การบรรพชาแก่ราหุลกุมารซึ่งเป็นโอรสของพระองค์เอง ปัจจุบันมีเพียงซากอิฐเก่าที่ก่อเป็นรูปสถูปตั้งอยู่ใจกลางบริเวณ อยู่ในการดูแลของทางการ.
          ณ ดินแดนประวัติศาสตร์แห่งนี้ ท่านเจ้าคุณพระราชรัตนรังษีได้กล่าวอบรมเพื่อเป็นแรงจูงใจในการปฏิบัติหน้าที่ให้กับเหล่าคณะนักเรียนธรรมทูต นำพาไหว้พระเจริญพระพุทธมนต์ เจริญจิตภาวนาประมาณหนึ่งชั่วโมง จากนั้นได้บันทึกภาพหมู่ไว้เป็นที่ระลึก. สถานที่แห่งนี้ในปัจจุบันตามที่ข้าพเจ้าเองสังเกตแล้วเป็นที่เชิงลุ่มเพราะมีนาปลูกข้าวอยู่รอบบริเวณ และมีบ้านที่อยู่อาศัยไม่กี่หลัง มีต้นไม้หลายชนิดขึ้นในบริเวณ อย่างต้นมะม่วงเป็นต้น เป็นต้นมีอายุเก่าแก่พอดู ในระหว่างทำกิจกรรมดังที่กล่าวไว้ข้างต้นก็มีลมโชยมาค่อนข้างแรง ทำให้คลายร้อนไปได้บ้าง.
          หลังจากเสร็จภารกิจตรงนี้แล้วได้ไปยังที่ตั้งของกรุงกบิลพัสดุ์ซึ่งไม่ห่างกันมากนัก นั่งรถอึดใจเดียวก็ถึง. กบิลพัสดุ์ เป็นชื่อเมืองหลวงของแคว้นสักกะในสมัยนั้น ครอบครองโดยพระเจ้าสุทโธทนะผู้เป็นพระราชบิดาของเจ้าชายสิทธัตถะ ๆ ได้ประทับอยู่ที่เมืองแห่งนี้ตั้งแต่ประสูติกาลมาจนพระชนมายุได้ 29 ปี ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศเนปาล ติดชายแดนตอนเหนือประเทศอินเดีย ยังเหลือซากเมืองอยู่เป็นหลักฐาน และไม่ห่างจากเมืองนี้มีสังเวชนียสถานที่สำคัญคือสถานที่ประสูติของสิทธัตถะราชกุมาร(ต่อมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า)ซึ่งเรียกว่า ลุมพินีวัน เป็นที่ ๆ ข้าพเจ้าจะกล่าวไว้เป็นลำดับสุดท้าย. พอเข้ามาในเขตที่ตั้งของกรุงกบิลพัสดุ์แล้วจะเห็นเป็นป่ามีต้นไม้น้อยใหญ่ขึ้นแซมกันไม่รกทึบมากนัก บางช่วงก็จะมีต้นไม้ใบหญ้าขึ้นสูงประมาณเข่า ประมาณอก เพียงท่วมหัวก็มี เป็นป่ากว้างใหญ่นับเป็นพัน ๆ ไร่.
..เดินเรื่อยมาจนถึงตำแหน่งที่ตั้งของเมืองชมซากอิฐเก่าของปราสาท 3 ฤดู อันเป็นที่ประทับของเจ้าชายสิทธัตถะ ห่างจากสถานที่นี้ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 400 เมตรได้ จะเป็นประตูเมืองที่พระองค์ทรงม้ากัณฐกะเสด็จออกผนวชในยามเที่ยงคืน
จากจุดนี้ไปทางด้านทิศตะวันตกเหมือนกัน ไปประมาณ 1 กิโลเมตร ดร.พระมหาปรีชา ธรรมวิทยากร ผู้บรรยายถวายความรู้แก่นักเรียนพระธรรมทูต ท่านได้ชี้บอกว่าที่เห็นเป็นเนินดินไกล ๆ โน้นคือ สถูปม้ากัณฐกะ ม้ากัณฐกะได้สิ้นใจตายที่ตรงนั้นหลังกลับจากส่งพระองค์. ประตูเสด็จหนีออกผนวชและบริเวณโดยรอบ ตามที่ข้าพเจ้าได้เห็นสถานที่จริงแล้ว เป็นไปตามจินตนาการที่ข้าพเจ้ามีในขณะเรียนผ่านจากตำรา ไม่ได้ผิดหวังเลยว่า สถานที่นี้เป็นอย่างนี้เองหรือ ทำไมไม่เห็นเหมือนอย่างที่คิดเลย.
          ถึง ณ เวลานี้ก็ตกเย็นเพราะใช้เวลาทำกิจกรรม ฟังบรรยาย จิตภาวนา ถ่ายภาพหมู เดินชมสถานเป็นการส่วนตัว ร่วม 2 ชั่วโมง จากนั้นระหว่างเดินทางกลับวัดไทยลุมพินีได้แวะชมวัดพุทธนานาชาติ ได้แวะวัดจีนวัดเดียวเนื่องจากเวลาไม่พอ ทางวัดสวดมนต์ถวายการต้อนรับคณะสงฆ์ไทย ถวายของที่ระลึกแก่กันและกัน ชมสถาปัตยกรรม จิตรกรรมเป็นเวลาพอสมควร กลับถึงวัดไทยลุมพินีประมาณ 2 ทุ่ม ดื่มน้ำปานะที่ทางวัดจัดเตรียมไว้   จากนั้นคณาจารย์มีพระครูปลัดสุวัฒนวชิรคุณ รองอธิบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ ประธานโครงการดำเนินงาน เป็นประธาน พร้อมด้วยพระนักเรียนธรรมทูตทั้งหมด ร่วมประชุมเพื่อสรุปภาพรวมของการทัศนศึกษา พร้อมทั้งมอบหมายให้ทำรายงานกลุ่มแต่ละกลุ่ม(7 กลุ่ม)เนื้อหาเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่การทำงานของพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล เป็นหลัก
       รุ่งเช้าวันที่ 29 เมษายน หลังจากพิจารณาภัตตาหารเช้าเสร็จ ทั้งคณะได้เดินทางไปยังลุมพินีวันซึ่งเป็นสถานที่ประสูติของสิทธัตถราชกุมาร ไม่ห่างจากวัดไทยลุมพินีมากนัก ใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์ประมาณสิบนาที จากนั้นถึงประตูทางเข้า ต้องเดินเท้าเข้าไปอีกร่วมหนึ่งกิโลเมตรเห็นจะได้ เนื่องจากทางการไม่อนุญาตให้รถวิ่งเข้าออก ยกเว้นจักรยาน รถจักรยานยนต์ รถสามล้อ
เมื่อถึงสถานที่แล้วได้ทำพิธีเปิดการอบรมช่วง การเรียนรู้และการปฏิบัติงานนอกสถานที่คือแดนพุทธภูมิโดยมีสงฆ์จากวัดพุทธนานาชาติทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายานเจริญมนต์คาถา พุทธมนต์ถวายการต้อนรับภายใต้ต้นโพธิ์ซึ่งไม่ห่างจากที่ ๆ ประสูติ
จากนั้นได้เจริญพุทธมนต์ ฟังการบรรยายจากพระราชรัตนรังษี และทำจิตตภาวนา(สมถะกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน) พอควรแก่เวลา
ลุมพินีวันได้รับการบูรณะและมีถาวรวัตถุสำคัญที่ชาวพุทธนิยมไปสักการะ คือ "เสาหินพระเจ้าอโศกมหาราช" ที่ระบุว่าสถานที่นี้เป็นสถานที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ นอกจากนี้ ยังมี "วิหารมายาเทวี" ภายในประดิษฐานภาพหินแกะสลักพระรูปพระนางสิริมหามายาประสูติพระราชโอรส โดยเป็นวิหารเก่ามีอายุร่วมสมัยกับเสาหินพระเจ้าอโศก ปัจจุบันทางการเนปาลได้สร้างวิหารใหม่ทับวิหารมายาเทวีหลังเก่า และได้ขุดค้นพบศิลาจารึกรูปคล้ายรอยเท้า สันนิษฐานว่าเป็นจารึกรอยเท้าก้าวที่เจ็ดของเจ้าชายสิทธัตถะที่ทรงดำเนินได้เจ็ดก้าวในวันประสูติ
        ลุมพินีวันได้รับการพัฒนาจากชาวพุทธทั่วโลก โดยเฉพาะจากโครงการฟื้นฟูพุทธสถานลุมพินีวันให้เป็น "พุทธอุทยานทางประวัติศาสตร์ของโลก" ซึ่งเป็นดำริของ ฯพณฯ อู ถั่น ชาวพุทธพม่า ในสมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ท่านตั้งใจเริ่มโครงการฟื้นฟูให้ลุมพินีวันเป็นศูนย์รวมจิตใจชาวพุทธบน พื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้ากว่า 6,000 ไร่ (ขนานตามแนวเหนือใต้) แบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วนสำหรับปลูกป่าและสร้างวัดพุทธนานาชาติจากทั่วโลกกว่า 41 ประเทศ โดยโบราณสถานลุมพินีวันตั้งอยู่ทางด้านใต้ ปัจจุบัน มีวัดไทยและวัดพุทธทั่วโลกไปสร้างอยู่จำนวนมากและมีขนาดใหญ่โต เพื่อรองรับพุทธศาสนิกชนที่มาสักการะแสวงบุญ
          ในปี พ.ศ. 2540 ลุมพินีวันได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลก ภายใต้ชื่อ "ลุมพินี สถานทีประสูติของพระพุทธเจ้า" ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 21 ที่เมืองนาโปลี ประเทศอิตาลี
....ปัจจุบันลุมพินีวันได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์โดยการนำของ คุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธุิ์ ปธ.มูลนิธิไทยพึ่งไทย ได้เชิญชวนชาวพุทธไทยทั่วประเทศมามีส่วนร่วมในการนี้ มีพระราชรัตนรังษี เป็นที่ปรึกษาโครงการ ได้แล้วเสร็จดังที่เราท่านทั้งหลายได้เห็นมาแล้วนั้น  ขออนุโมทนาสาธุการเป็นอย่างยิ่ง


ดูภาพประกอบเพิ่มเติมใน  เล่าเรื่องด้วยภาพ (เนปาล)


0 comments:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นล่าสุดจากผู้เข้าเยี่ยมชม

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More

 
Powered by Blogger