20/12/53

ครั้งหนึ่งในชีวิต

     
     ตลอดเวลาที่ผ่านมาได้เห็นได้ยินคนป่วยจำนวนมากที่เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลต่าง ๆ จำแนกไปตามอาการของแต่ละคนกันออกไป   บ้างก็มีอาการเล็กน้อย(อย่างเป็นไข้หวัด เป็นต้น) หมอตรวจสุขภาพโดยผ่านการวัดความดัน สอบถามอาการ ให้ยาแล้วกลับบ้านได้      บ้างก็มีอาการหนักขึ้นมาหน่อยถึงขั้นนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลคืนสองคืน เมื่ออาการทุเลาลงก็สามารถกลับบ้านได้ แต่ยิ่งไปกว่านั้นการได้รับการผ่าตัดก็ได้เกิดขึ้นกับคนจำนวนไม่น้อยเลย บางคนถึงขั้นเข้าห้องไอซียูก็มี  หลาย ๆ คนอาจคิดว่าเราสุขภาพแข็งแรงดีพอ คงไม่ป่วยถึงขั้นเข้ารับการผ่าตัดเช่นนั้น ที่ผ่านมาผู้เขียนเองก็เป็นหนึ่งในบรรดาคนเหล่านั้นที่คิดอย่างนั้นและก็ได้รับการผ่าตัดมาแล้ว
     
          เนื่องจากเมื่อวันเสาร์ที่ 30 สิงหาคม 51  ผู้เขียนเองต้องเข้าห้องผ่าตัดด่วนที่โรงพยาบาล ไปถึงก็บอกอาการที่ตัวเองเป็นคืออาการเจ็บที่ท้องน้อยด้านขวา (วันนั้นต้องเดินก้ม ๆ ไม่สามารถเดินเหมือนคนปกติได้ เพราะเจ็บ) พยาบาลก็วัดความดัน ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอ็กซเรย์  เสร็จแล้วพยาบาลก็บอกด้วยความมั่นใจกว่า 85% ว่า "คิดว่าใส้ติ่งอักเสบนะ"    เธอก็โทรบอกหมอผ่าตัดทันที(วันเสาร์ไม่มีหมออยู่ประจำ)จากนั้นก็ให้น้ำเกลือ แล้วถูกส่งขึ้นไปยังตึกผู้ป่วย เปลี่ยนผ้าเป็นผู้ป่วยผ่าตัด เซ็นใบยินยอมการผ่าตัด ทำการสวนปัสสาวะ (เจ็บบบบ)  ถึงเวลาบ่ายสองผู้ช่วยหมอก็เข็นขึ้นเตียงพาไปยังตึกผ่าตัด "ตัวร้อนจังเลย" ได้ยินผู้ช่วยหมอพูด ถึงที่แล้วก็ถูกจับมัดแขนซ้ายขวา พักหนึ่งหมอผ่าตัดมาถึง วิสัญญีแพทย์ก็ให้สูดยาสลบ ช่วงนี้ปวดตามเส้นเลือดแขนซ้ายมาก สูดไป ปวดไป สูดสี่ถึงห้าครั้งจากนั้นก็ไม่รู้สึกตัวอีกเลย ใช้เวลาผ่าตัดประมาณชั่วโมงครึ่ง หลังผ่าตัดเสร็จ "ตื่น ๆ ตื่นได้แล้วค่ะ" พยาบาลปลุกพร้อมกับเอามือไปเขย่าที่ไหล่แล้วถามต่อว่า"รู้สึกตัวหรือยังค่ะ" ได้พยักหน้าตอบไปทั้ง ๆ ที่ยังหลับตาและมีอาการเบลอ ๆ เพราะฤทธิ์ยาสลบ และก็รู้สึกเจ็บที่บาดแผล      ช่วงนั้นได้ยินเสียงพยาบาลพูดกัน แว่ว ๆ ว่า "คนป่วยยังสติดีอยู่เนอะ"   พักฟื้นที่โรงพยาบาลสี่คืน สองคืนแรกทรมานมาก มันเหนื่อย เพลีย ไม่มีแรง เจ็บแผล และมีไข้ ไม่ได้ทานอาหารตั้งแต่เช้าวันเสาร์ถึงเย็นวันจันทร์ หมอไม่ให้ทาน แต่จะให้น้ำเกลือตลอด ในระหว่างนี้พยาบาลจะฉีดยาแก้อักเสบทุก ๆ สี่ชั่วโมงผ่านสายน้ำเกลือ จะลุกนั่งแต่ละทีต้องให้ผู้่ช่วยหมอและผู้ดูแลมาพยุง มีอยู่ครั้งหนึ่ง หมอและผู้ดูแลไม่อยู่ จะลุกเข้าห้องน้ำต้องตั้งท่าตั้งหลักอยู่ประมาณยี่สิบนาที เมื่อลงจากเตียงได้แล้วก็เดินหมุนเซเกือบล้ม  สายน้ำเกลือก็เสียบคาที่แขน แต่ก็ใจแข็งทรงตัวอยู่ได้
          ช่วงพักฟื้นอยู่นั้นก็ได้ถามหมอผ่าตัดตอนมาดูอาการว่า "เป็นยังไงบ้างคุณหมอใส้ติ่งตอนผ่าตัด"  "ใส้ติ่งแตกนะ ตอนผ่าตัดมีหนองด้วย" หมอตอบ (คิดอยู่ในใจว่าถึงขั้นแตกเลยเหรอ) แต่ก็เป็นไปได้ เพราะคืนก่อนเข้าโรงพยาบาล เจ็บทั้งคืนไม่ได้นอนเพราะนอนไม่ได้ มาเจ็บเอามาก ๆ ช่วงหลังเที่ยงคืนเจ็บจนน้ำตาไหล(ทนกับการเจ็บปวดได้อย่างไร?)
          คิดในอีกแง่หนึ่ง ความเจ็บปวด ความป่วยไข้ก็สอนให้เราบรรเทาความต้องการอะไรได้หลาย ๆ อย่าง สอนให้สัมผัสกับความจริงที่ต้องเผชิญอันก่อให้เกิดปัญญาขั้นสูง(ปัญญาด้าน พุทธะ)  สรุปแล้วอาการที่ตัวเองเป็น(ไส้ติ่งอักเสบ)ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ ไม่ได้เรื้อรังอะไร ก็ยังถือว่าดีมีโอกาสกลับมามีสุขภาพแข็งแรงเหมือนเดิมได้    ในเรื่องแบบนี้แต่กับอีกบางคนก็ไม่ได้สัมผัสกับความเจ็บปวดที่ว่า  นั่นถือว่าเป็นความโชคดีของคนนั้น บุคคลเช่นนี้ตามคติคำสอนทางพุทธศาสนา ถือว่าในอดีตชาติที่ผ่าน ๆ มาจนถึงชาิติปัจจุบันเขาได้ยึดเอาหลักที่พึงปฏิบัติมามีส่วนในการดำเนินชีวิตของตนเอง กล่าวคือได้สมาทานรักษาศีลข้อที่หนึ่ง งดจากการเบียดเบียน ประทุษร้าย ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต(สัตว์ทุกชนิดรวมถึงมนุษย์) นี้คือสิ่งอันเป็นเหตุเป็นผลทำให้เขามีสุขภาพเช่นนั้น และรวมถึงเป็นผลดีต่อการประกอบสัมมาชีพทุกสาขา สุขภาพดีการงานก็ขับเคลื่อนไปได้ ถือว่าเป็นการได้รับสิ่งอันล้ำค่าในชีิวิตของบุคคลนั้นแล้ว อย่างที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้(พุทธสุภาษิต)ในอรรถกถา ขุททกนิกาย วรรคที่ 15 คาถาธรรมบท ว่า

อาโรคฺยปรมา ลาภา
ความไม่มีโรค เป็นผลานิสงส์อันประเสริฐ

0 comments:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นล่าสุดจากผู้เข้าเยี่ยมชม

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More

 
Powered by Blogger