30/12/53

สำคัญที่ใจ



              ถ้าพูดถึงเรื่องการศึกษาแล้ว ก็มีหลายรูปแบบ มีทั้งรูปแบบที่เป็นระบบที่ประกอบด้วยอาคาร ห้องเรียน ครู นักเรียนมากกว่าสองขึ้นไป บางครั้ง บางโอกาสก็ศึกษาเรียนรู้นอกห้องเรียน  ค้นคว้า  วิจัย มีการประเมินผลการเรียนการสอนเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ (ยุคนี้ทุกคนต้องผ่านการศึกษารูปแบบนี้อยู่แล้ว อย่างน้อยก็จบระดับประถม) นี้อย่างหนึ่ง อีกอย่างก็คือการศึกษา การค้นคว้าที่ไม่มีรูปแบบ ไม่มีระบบ ไม่มีกฏตายตัว จะมีผู้แนะนำ(ครู)หรือไม่ก็ได้ การประเมินผลก็ขึ้นอยู่กับผู้ศึกษาเอง เรียนรู้เรื่องวิธีการประกอบอาชีพสาขาต่าง ๆ อย่าง เรียนรู้การซื้อขายสินค้า นี้ก็ศึกษา เรียนรู้การซ่อมอุปกรณ์ด้วยตัวเอง นี้ก็ศึกษา  เรียนรู้การทำปุ๋ยรูปแบบต่าง ๆ นี้ก็ศึกษา เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน นี้ก็ศึกษา มีต่าง ๆ นานา รูปแบบนี้ศึกษาทั้งชีวิต  จนกว่าจะวายปราณ 
          เมื่อพูดถึงการวายปราณ ม้วยมอด มรณาแล้ว เลยนึกถึงคำพูดของครูท่านหนึ่ง ณ สถานศึกษาภาษาแห่งหนึ่งที่อยู่ในรูปแบบแรกที่กล่าวมาข้างต้น ผู้เขียนเองก็ได้มีโอกาสไปศึกษาที่นั่น ในระหว่างการเรียนการสอน ผู้สอนจะสอดแทรกเรื่องราวนอกตำรามาเล่ามาคุยตามสไตล์ของแต่ละคนเพื่อให้นักเรียนได้ผ่อนคลาย   เมื่อวันเสาร์ที่ 11 ธันวาคม 2553  ช่วงบ่ายครูท่านหนึ่ง (ดร. อาจารณ์ประจำมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง) ได้ถามคำถามนอกเนื้อหาหลักสูตรกับนักเรียนทีเล่นทีจริงว่าถ้าท่านรู้ว่าจะมีชีวิตอยู่ถึงแค่เที่ยงพรุ่งนี้ ท่านจะทำอะไรก่อนวายปราณ(เชื่อแน่ว่าคนโดยส่วนมากคงไม่อยากได้ยินคำถามแบบนี้ เพราะมันน่ากลัวบ้าง ไม่อยากพลัดพรากบ้าง มันหดหู่  มันหวาดหวั่นกับการจะเปลี่ยนภพภูมิของตัวเองบ้าง ก็เลยไม่ได้นึกถึงความตาย(เจริญมรณานุสสติ) บางคนพอตายก็ตายทั้งยังไม่ทันตั้งตัว ไม่ทันได้วางใจให้ถูก) นักเรียนบางท่านก็ตอบว่าจะอยู่กับพ่อแม่ บางท่านก็ว่า ขอนอน ตามด้วยเสียงหัวเราะเบา ๆ  (ตอบทีเล่นทีจริงเหมือนกัน) แล้วมีนักเรียนท่านหนึ่งได้ยกมือขึ้นตอบว่า จะขอใช้เวลาที่เหลืออยู่รักษาจิตรักษาใจให้ดีที่สุด(ทำใจให้อยู่กับห้วงอารมณ์ที่เป็นบุญ) หลังจากตอบก็ทำให้นักเรียนทั้งหมดในห้องเงียบไปชั่วขณะหนึ่ง อาจเป็นเพราะยังงงกับคำตอบว่าทำไมตอบอย่างนั้น  ครูสอนได้พูด ท่านตอบได้ดีมาก เป็นคำตอบที่ดีมาก ทำไมผมถึงเห็นด้วย เพราะจิตใจคนเรานั้นก่อนจะจุติ(เคลื่อนจากร่าง)จะยึดเอาอารมณ์ที่เป็นบุญ(สภาวะธรรมที่ทำให้ใจผ่องใส) หรือจะไปยึดเอาอารมณ์ที่เป็นบาป(สภาวะธรรมที่ทำให้ใจกังวล ขุ่นมัว เศร้าหมอง) ถ้ายึดเอาอารมณ์ที่เป็นบุญก็ไปสู่สุคติ ภพภูมิที่ดี สูงต่ำอยู่กับใจที่เข้าถึงธรรมระดับไหน นึกในใจว่าครูท่านนี้มีความรู้ความเข้าใจพุทธศาสนาใช้ได้เลย  ผู้เขียนจะขออธิบายเสริมต่อว่า ผู้ที่จะทำใจให้ยึดเอาอารมณ์ที่เป็นบุญได้นั้น ในชาติปัจจุบันก็ต้องทำคุณความดี คือสิ่งที่ทำแล้วเกิดสุขใจ อิ่มเอิบใจ พอสมควร ขวนขวายในการบำเพ็ญบุญบำเพ็ญบารมี มีการให้ทาน รักษาศีล สูงขึ้นไปอีกก็คือเจริญภาวนา(คือฝึกจิตเพื่อยกระดับจิตใจให้สูงขึ้นตามลำดับ จากที่เคยมีจิตกลั้วด้วยเครื่องเศร้าหมอง(กิเลส) อาจจะอยู่ในรูปแบบการนั่งสมาธิ เดินจงกลมหรือเจริญวิปัสสนาพิจารณาการเกิดดับของรูปนาม) เมื่อทำบ่อย ๆ จิตก็จะยึดเอาอารมณ์นี้บ่อยขึ้น ง่ายขึ้น จิตก็เกิดปิติ สุข อิ่มเอิบ ถ้าตายตอนนี้ คือตอนจิตผ่องใส จิตมีปิติ จิตเกิดสุข กรรมอันนี้ก็จะผลักดันให้ไปสู่สุคติได้ ตอนนี้คนอื่นช่วยเราไม่ได้เลย อยู่กับว่าเราจะวางใจยังไงก่อนตาย  อย่างที่พระพุทธเจ้าได้ตรัส(พุทธพจน์)ไว้ว่า

จิตฺเต  อสงฺกิลิฏฺเฐ  สุคติ ปาฏิกงฺขา
เมื่อจิตไม่เศร้าหมอง สุคติภพ ก็เป็นอันหวังได้

          จะขอยกเรื่อง ๆ หนึ่งเพื่อนำมาเป็นบุคคลาธิฏฐานอ้างอิงเพิ่มเติมโดยสังเขป
          ในอดีตกาลนานมาแล้ว ในกรุงสาวัตถี มีพราหมณ์ (พราหมณ์เป็นชนชั้นที่สองแห่งสังคมศาสนาฮินดู จากทั้งหมดสี่ชั้น)  คนหนึ่งชื่อ อทินนปุพพกะ ปรกติเขาเป็นคนตระหนี่ มีบุตรชายชื่อ มัฏฐกุณฑลี ซึ่งเป็นที่รักเป็นที่เอ็นดู เมื่อบุตรชายอายุได้ 16 ปี ก็เกิดเป็นโรคผอมเหลือง ภรรยาได้บอกสามีว่า "ลูกเราไม่สบายนะพ่อ หาหมอมาเยียวยารักษาเถอะ" สามีได้ตอบไปว่า "ถ้านำหมอมามันจะสิ้นเปลืองทรัพย์นาแม่  เอางี้เดี๋ยวจะไปถามหมอดูว่า เป็นโรคนี้ ควรจะจัดยาขนานไหน" เมื่อได้สูตรยามา(ประเภทสมุนไพร) ก็ปรุงยาให้บุตรชาย แต่ไม่ได้ผล อาการกลับทรุดหนักขึ้นจนถึงขั้นตัวเองรักษาไม่ได้แล้ว จึงได้นำหมอมา หมอมาตรวจดูแล้วคิดในใจ อาการหนักเกินกว่าจะเยียวยาได้ จึงได้บอกปฏิเสธไป  พราหมณ์รู้เวลาว่าบุตรจวนจะตายแล้วเลยคิดว่า "อืมม ถ้ามีญาติหรือใครมาเยี่ยมก็จะเห็นทรัพย์สมบัติในบ้านเรา อย่ากระนั้นเลย เอาลูกไว้ที่ระเบียงนอกบ้านดีกว่า" แล้วก็ได้ทำตามที่ตัวเองคิดไว้ 
          ในเวลาจวนสว่าง วันนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จออกจากพระมหากรุณาสมาบัติ ทรงเล็งดูสัตว์โลกด้วยพุทธจักษุ เพื่อทอดพระเนตรเหล่าสัตว์ผู้มีอุปนิสัยที่พระองค์พอแนะนำได้ ซึ่งมีกุศลมูลอันหนาแน่นแล้ว มีความปรารถนาซึ่งได้ทำไว้ในพระพุทธเจ้าแต่ปางก่อน ๆ ได้ทรงแผ่ตาข่ายคือพระญาณไปในหมื่นจักรวาล ได้ทรงเห็นมัฏฐกุณฑลี แล้วดำหริต่อว่า "มาณพผู้นี้หลังจากทำกาละ (ตาย)แล้วก็จะเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงษ์ มีวิมานทองสูง 30 โยชน์ มีนางอัปสร(นางฟ้า ที่ใช้พูดกันในปัจจุบัน) 1000 เป็นบริวาร เพียงแค่เพราะทำใจให้เลื่อมในเราเท่านั้น"   แล้วจึงได้เสด็จไปโปรด  
          ในขณะนั้น มัฏฐกุณฑลีมาณพกำลังนอนผินหน้าไปข้างในเรือน พระศาสดา(คือพระพุทธเจ้า คุณลักษณะนามของพระองค์มี 9 อย่าง) ทรงทราบว่าไม่เห็นพระองค์ จึงได้เปล่งพระรัศมีไปวาบหนึ่ง มาณพคิดว่า “นี่แสงสว่างอะไร?”  จึงนอนพลิกกลับมา  เห็นพระศาสดาแล้ว คิดว่า “เราไม่มีโอกาสได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ผู้ประเสริฐอย่างนี้ เพื่อที่จะทำการขวนขวายด้วยกาย หรือถวายทาน หรือฟังธรรมเลย เดี๋ยวนี้แม้แต่มือทั้งสองข้างเราก็ยกไม่ไหว มีแต่ใจอย่างเดียวที่ยังทำความเคารพ ความเลื่อมใสได้ " ดังนี้แล้ว ได้แต่ทำใจเท่านั้นให้เลื่อมใส  เมื่อพระตถาคตกำลังเสด็จกลับลับตาไป มาณพนั้นมีใจเกิดปิติ เลื่อมใส ทำกาละ(ตาย)แล้ว เป็นประดุจดังว่าหลับแล้วกลับตื่นขึ้น ไปเกิดในวิมานทองสูง 30 โยชน์ในเทวโลก ดังที่กล่าวแล้ว (การเกิดในสวรรค์ จะเกิดเป็นเทพบุตรหรือเทพธิดา จะเป็นการเกิดโดยอุปบัติ คือเป็นผู้ใหญ่เลย จะไม่เป็นทารก เลี้ยงดูเหมือนในมนุษยโลก) 
          ดังนั้นเห็นได้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างสำคัญที่ใจทั้งหมด ขึ้นอยู่กับใจทั้งหมด ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว อย่างที่ได้ยินกันบ่อย ๆ    และจะขอยกพุทธพจน์มาสรุปท้ายว่า  “ในการทำกรรมที่เป็นกุศลและอกุศลก็ตาม มีใจเป็นหัวหน้า ใจเป็นใหญ่ เพราะว่า กรรมที่ทำด้วยใจอันผ่องใสแล้ว จะไม่ละทิ้งบุคคลผู้ไปสู่เทวโลก  มนุษยโลก ดุจเงาฉะนั้น”  แล้วตรัสเป็นคาถาต่อว่า

 มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา     มโนเสฏฺฐา มโนมยา
 มนสา เจ ปสนฺเนน         ภาสติ วา กโรติ วา
 ตโต นํ สุขมเนฺวติ          ฉายาว อนุปายินี.
             
 ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่
 สำเร็จแล้วด้วยใจ ถ้าบุคคลมีใจผ่องใสแล้ว 
 พูดอยู่ก็ดี ทำอยู่ก็ดี ความสุขย่อมติดตามเขาไป
 เหมือนเงาติดตามตัวฉะนั้น.








0 comments:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นล่าสุดจากผู้เข้าเยี่ยมชม

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More

 
Powered by Blogger